การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ความหมาย

สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” คือสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกออกจากระบบราชการ (autonomous university) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (block grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

ประวัติ

แนวความคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2507 จากกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง และได้เสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2514 แต่เรื่องชะงักลงเพราะบุคลากรในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการปฏิวัติในสมัยนั้น ได้เลื่อนการพิจารณาไป เพียงแต่ได้มีการจัดตั้ง “ทบวงมหาวิทยาลัย” ขึ้น (ปัจจุบันคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เพื่อดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ในยุคนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้ย้ายไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จากเดิมที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายระเบียบของระบบราชการเช่นเดิม ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน จึงได้มีความพยายามที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการเรื่อยมา ต่อมาในปี พ.ศ.2517 แนวคิดดังกล่าวได้ถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวางพื้นฐานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

จนกระทั่ง พ.ศ.2530 ทบวงมหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2533–2547) ขึ้น ซึ่ง 1 ใน 6 ข้อเสนอ ระบุว่า “รัฐบาลพึงให้การสนับสนุนการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญากับรัฐ โดยพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้วให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัว มีประสิทธิภาพและสามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่เป็นส่วนราชการ ส่วนสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่จะจัดตั้งใหม่ ให้มีฐานะและรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตั้งแต่แรกตั้ง”

จากแผนดังกล่าว ประเทศไทยจึงเกิดมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่ก่อตั้ง จำนวน 3 แห่ง คือ
1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2533 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี
2. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2534 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี
3. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541 สมัย นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ.2541 นโยบายการออกนอกระบบได้เป็นข้อตกลงหนึ่ง ที่ผูกพันกับสัญญาการกู้ยืมเงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยรัฐบาลมุ่งหมายลดงบประมาณในส่วนราชการให้สามารถเลี้ยงตนเองและบริหารงบประมาณเองได้ ในช่วงปี พ.ศ. 2542 เริ่มมีการเสนอให้มหาวิทยาลัยหรือคณะวิชาที่ตั้งขึ้นใหม่ “ออกนอกระบบ” ราชการ และมีการหยุดรับข้าราชการเข้ามาในมหาวิทยาลัยรัฐเดิมทั้งหมด ตำแหน่งที่บรรจุเข้ามาใหม่ เรียกว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ซึ่งมีกรอบเงินเดือนและสวัสดิการแตกต่างจากข้าราชการเดิม และหากผู้ที่เกษียณอายุราชการไป ให้ตำแหน่งและเงินเดือนนั้นเปลี่ยนเป็นตำแหน่งพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในตำแหน่งเริ่มบรรจุใหม่เท่านั้น

ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้เริ่มมีความพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกครั้ง แต่ได้มีการคัดค้าน ดังนั้น จึงยังไม่มีการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในช่วงนี้ ต่อมาในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ทำให้ปัจจุบัน มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐแล้ว จำนวน 29 แห่ง และมีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกหลายแห่ง

เรียบเรียงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ